กัญชาประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

ลักษณะทั่วไปของกัญชา

         ส่วนของช่อดอก : มี 2 ชนิด คือ ชนิดที่มีดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่ในต้นเดียวกัน (monoecious) และชนิดดอกเพศผู้และเพศเมียแยกกันอยู่คนละต้น (dioecious) ในประเทศไทยพบว่าพืชกัญชามีดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายยอด ดอกเพศผู้ ช่อดอกเพศผู้เป็นแบบ panicle ประกอบไปด้วยกลีบเลี้ยง 5 กลีบ แยกกันเป็นอิสระมีสีเขียวอมเหลือง พบเกสรเพศผู้ 5 อัน ระยะเวลาการบานประมาณ 2 เดือน ดอกเพศเมีย : เกิดตามซอกใบและปลายยอด ในบริเวณช่อดอกจะอัดตัวกันแน่น ช่อดอกเป็นแบบ spike ประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวเข้มห่อหุ้มรังไข่ไว้ ภายในมี stigma 2 อัน สีน้ำตาลแดง อายุของดอกค่อนข้างสั้นประมาณ 3-4 สัปดาห์ และมี Glandular trichomes เป็นส่วนของพืชกัญชาซึ่งมีอยู่หนาแน่นในบริเวณที่ช่อดอก

ช่อดอกกัญชาที่กำลังขยาย 35 เท่า (ด้านซ้าย)  และ 140 เท่า (ด้านขวา) จากจากกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง (3D Digital microscope)

ช่อดอกกัญขาที่กำลังขยาย 150x (ซ้าย) และ 300x (ขวา) จากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (FE-SEM 8230)

ส่วนของหน้าใบ

         ใบของกัญชาเป็นใบเดี่ยว รูปฝ่ามือ ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบแตกออกเป็นแฉก ๆ ประมาณ 5-8 แฉก แต่ละแฉกเป็นรูปยาวรี ปลายและโคนขอบ ส่วนขอบใบทุกแฉกเป็นหยักแบบฟันเลื่อย มีขนาดกว้างประมาณ 0.3-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ลักษณะของใบโดยรวมจะคล้าย ๆ กับใบละหุ่ง ใบฝิ่นต้น และใบมันสำปะหลัง ผิวใบด้านบนมีตุ่มเป็นสีเขียวเข้ม มีขนต่อม Trichomes กระจายทั่วผิวใบด้านบน

หน้าใบกัญชาที่กำลังขยาย 35 เท่า (ด้านซ้าย)  และ 140 เท่า (ด้านขวา) จากจากกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง (3D Digital microscope)

หน้าใบกัญขาที่กำลังขยาย 150x (ด้านซ้าย) และ 300x (ด้านขวา) จากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (FE-SEM 8230)

ส่วนของหลังใบ

         ส่วนด้านล่างท้องใบมีสีเทาอ่อนเล็กน้อย  ส่วนด้านล่างมีขนอ่อนนาบไปกับแผ่นใบ ก้านใบยาวประมาณ 4-15 เซนติเมตร ในก้านหนึ่งจะมีใบเดี่ยว 3-11 ใบ มีกลิ่นเหม็นเขียว ด้านล่างของใบกัญชาพบโครงสร้างของเซลล์ป้องกันสองประเภท ประเภทแรก เข็มสูงเช่นไตรโคเมอร์ และประเภทสองต่อมลักษณะกลม เช่นไตรโคเมียร์ต่อม เป็นแหล่งที่มาของ THC (Tetrahydrocannabinol) สารเคมีออกฤทธิ์ทางจิตในพืชกัญชา และพบ CBD (Cannabidiol) มีคุณสมบัติลดอาการเจ็บปวด และยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

หลังใบกัญชาที่กำลังขยาย 35 เท่า (ด้านซ้าย)  และ 140 เท่า (ด้านขวา) จากจากกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง (3D Digital microscope)

หลังใบกัญขาที่กำลังขยาย 150x (ซ้าย) และ 300x (ขวา) จากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (FE-SEM 8230)

ส่วนของลำต้น

        พบว่าลำต้นตั้งตรง สีเขียว เมื่อแห้งจะเป็นสีน้ำตาล สูงประมาณ 1-3เมตร มีลักษณะอวบน้ำเมื่อเป็นต้นกล้า เริ่มมีการสร้างเนื้อไม้เมื่อเจริญได้ 2-3 สัปดาห์ มีความสูงเฉลี่ยคงที่ คือ ประมาณ 200ซม. สำหรับต้นกัญชาตัวผู้ จะมีเม็ดกลมเล็กๆ บริเวณก้านใบติดกับลำต้น ส่วนกัญชาตัวเมียจะมีดอกเป็นฝอยสีขาว และยังมีกัญชากะเทยที่มีทั้งเพศผู้และเพศเมียอยู่ในต้นเดียวกันเนื่องจากมีการออกดอก ผิวของลำต้นจะพบ Trichomes เปลือกของลำต้น สามารถลอกออกเพื่อใช้ประโยชน์จากเส้นใย โดยเปลือกนอก ให้เส้นใยที่ยาว เหนียว แต่ค่อนข้างหยาบ ส่วนเปลือกในที่ติดกับเนื้อไม้ ให้เส้นใยที่ละเอียดกว่าแต่สั้นเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

ลำต้นกัญชาที่กำลังขยาย 35 เท่า (ด้านซ้าย)  และ 140 เท่า (ด้านขวา) จากจากกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง (3D Digital microscope)

ลำต้นกัญขาที่กำลังขยาย 150x (ด้านซ้าย) และ 300x (ด้านขวา) จากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (FE-SEM 8230)

ส่วนของเมล็ด

        เป็นเมล็ดเดี่ยว ผลกัญชา ผลแห้งขนาดเล็ก เมล็ดล่อน ไม่แตก ลักษณะของผลเป็นรูปไข่กว้าง ผิวผลเรียบเป็นมัน สีน้ำตาลแกมเทาหรือสีเทาเข้ม มีใบประดับหุ้ม ในผลจะมีเมล็ดขนาดเล็ก เมล็ดมีลักษณะกลม รูปไข่ป้อม ขนาดประมาณ 3-4 มม. มีน้ำหนักเฉลี่ย 8-24 กรัมต่อเมล็ด 1000 เมล็ด เมล็ดจะออกประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ หลังออกดอก น้ำมันที่ได้จากเมล็ดจะเป็นน้ำมันไม่ระเหย (fixed oil) ซึ่งสามารถนำมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ใช้ทำสีทาบ้าน ทำสบู่ รสชาติของเมล็ดกัญชา มีรสหวาน ใช้ในอาการที่เกี่ยวกับกระเพาะ และลำไส้ใหญ เพื่อรักษาอาการท้องผูก

เมล็ดกัญชาที่กำลังขยาย 35 เท่า (ด้านซ้าย)  และ 140 เท่า (ด้านขวา) จากจากกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง (3D Digital microscope)

เมล็ดกัญขาที่กำลังขยาย 150x (ด้านซ้าย) และ 300x (ด้านขวา) จากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (FE-SEM 8230)

ส่วนของราก

        รากเป็นส่วนที่ดูดซึมสารอาหารเพื่อไปหล่อเลี้ยงลำต้น ใบและดอกของกัญชา ดังนั้นไม่แปลกที่รากกัญชาจะมีสารอาหารโคลีน (choline) ซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็น และเป็นสารตั้งต้นของสารสื่อประสาทอะซีทิลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสำคัญต่อการพัฒนาและรักษาเซลล์ให้สุขภาพดี และรากกัญชา เป็นระบบรากแก้ว (Tap root system) มีรากแขนงจำนวนมาก รูปแบบการใช้นั้นมีอยู่หลากหลาย แต่วิธีที่ง่าย และเก่าแก่ที่สุดคือการต้มรากกับน้ำเปล่า อาจมีรสชาติขมมากกว่าชาที่ทำมาจากใบหรือดอก โดยปัจจุบันในประเทศที่มีการอนุญาตการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ ได้มีการผลิตรากกัญชาเพื่อการรักษาในรูปแบบที่ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการใช้

รากกัญชาที่กำลังขยาย 35 เท่า (ด้านซ้าย)  และ 140 เท่า (ด้านขวา) จากจากกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง (3D Digital microscope)

รากกัญขาที่กำลังขยาย 150x (ด้านซ้าย) และ 300x (ด้านขวา) จากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (FE-SEM 8230)

นายณัฐพงศ์  วงศ์ปัญญา
เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ (Microscopy Laboratory)
ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ (NCTC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)