ภาพขยายจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดของผักกระสัง

ผักกระสัง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Peperomia pellucida (L.) Kunth อยู่ในวงศ์ Piperaceae เป็นพืชล้มลุกในวงศ์เดียวกับพลู-พริกไทย จึงทำให้ถ้าเราเด็ดใบกระสังมาขยี้เราจะได้กลิ่นเผ็ด ๆ เล็กน้อยคล้ายกับกลิ่นใบพลู เมื่อดูช่อดอกและช่อผลนั้นทำให้นึกถึงช่อของดีปลีหรือช่อพริกไทยที่ย่อส่วนเล็กลงมาก ลำต้นสูง 15-45 เซนติเมตร ใบเป็นรูปหัวใจ ผิวใบเป็นมัน ต้นและใบอวบน้ำดูโปร่งแสง

ในชั่วโมงวิทยาศาสตร์สมัยเด็กบางคนอาจเคยใช้ต้นนี้มาทดลองเรื่องการดูดซึมน้ำสู่ลำต้นของพืช โดยคุณครูจะใช้น้ำสารละลายที่มีสีแล้วเอาต้นผักกระสังที่ล้างรากเอาดินออกมาจุ่มรากลงไปสักพักน้ำสีก็จะถูกดูดสู่ลำต้น จึงมีความน่าสนใจในการศึกษาโครงสร้างส่วนต่างๆ ของพืชชนิดนี้ด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน แต่การเตรียมตัวอย่างเข้าเครื่องนั้นไม่ง่ายเลย

เนื่องด้วยภายในห้องตัวอย่างของกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดเป็นสุญญากาศ การนำตัวอย่างเข้าถ่ายภาพนั้นตัวอย่างจะต้องแห้งสนิท แต่ผักกระสังมีลักษณะฉ่ำอวบน้ำจึงไม่สามารถนำเข้าไปถ่ายภาพในเครื่องได้  ถ้าเอาผักกระสังมาทิ้งให้แห้งก็จะทำให้เหี่ยวย่นยุบตัวเสียสภาพไป จึงต้องมีการเตรียมตัวอย่างให้แห้งโดยไม่เหี่ยว

การเตรียมตัวอย่างของภาพในชุดนี้ไม่ใช้การคงสภาพทางเคมี ทำโดยนำชิ้นส่วนของพืชสดใหม่มาดึงน้ำออก (dehydrate) ด้วย Serial Ethanol โดยแช่ตัวอย่างเริ่มจาก 35% Ethanol จากนั้นเพิ่มความเข้มข้นของ Ethanol ที่แช่เป็น 50% 75% 95% ความเข้มขันละ 2 รอบ และ 100% อีก 3 รอบ โดยแต่ละรอบความเข้มข้นจะแช่ตัวอย่างเป็นเวลา 30 นาที จากนั้นนำตัวอย่างที่อยู่ใน 100% Ethanol มาทำแห้งโดยใช้ Critical Point dryer ติดบน Stub แล้วเคลือบผิวด้วยทอง

ภาพขยายของผักกระสังที่ถ่ายด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดในบทความนี้ แสดงพื้นผิวของส่วนต่าง ๆ รวมถึงภาคตัดขวางของใบ ลำต้น และราก ถ่ายด้วยกล้อง TESCAN รุ่น MIRA3 ของศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เส้นกลางใบด้านท้องใบของผักกระสัง
ขอบใบและผิวใบส่วนท้องใบจะเห็นมีปากใบเรียงอยู่
ปากใบ เซลล์คุมปากใบ และเซลล์ผิวใบ
ลักษณะของปากใบใกล้ๆ
ภาพตัดขวางของใบ
ภาพตัดขวางบริเวณเส้นใยกลางใบ
ใบอ่อน ที่มีต่อมน้ำมันกระจายอยู่ทั่วพื้นผิว
ส่วนยอดดอกอ่อนดูคล้ายดีปลี หรือพริกไทยอ่อน
ดอกย่อยในช่อดอกกระสัง
รากฝอย
ภาพตัดขวางของราก
ภาพตัดขวางลำต้น
ไดอะตอมที่ผิวใบ ติดมากับน้ำที่ใช้รด

ขอขอบคุณบทความดีๆจาก

อาจารย์ วิฑูรย์ วรรธนะนิตย์

นักวิทยาศาสตร์ประจำศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร